ชื่อพฤกษศาสตร์: Diospyros decandra
ชื่อวงศ์: EBENACEAE
ต้นอินจัน เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ชนิดไม่ผลัดใบ ความสูงเฉลี่ยอยู่ที่ 10-20 เมตรทรงต้นเป็นทรงกระสวย เปลือกต้นเรียบ สีน้ำตาลอมเทา กิ่งอ่อนยอดอ่อน มีขนสีน้ำตาลปกคลุม กิ่งก้านเหนียว ลำต้นตรง
ใบเดี่ยว (simple leaf) เรียงสลับระนาบเดียว (distichous) รูปรี (elliptic) หรือรูปขอบขนาน (oblong) ปลายใบแหลม (acute) ขอบใบเรียบ (entire) แผ่นใบเรียบเป็นมันลื่น สีเขียวเข้ม กว้าง 2.5 – 3 ซม. ยาว 7 – 10 ซม. ใบอ่อนมีขนสีแดงปกคลุม
ดอกแยกเพศอยู่บนต้นเดียวกัน สีขาวนวล หรือสีเหลืองอ่อน ดอกเพศผู้ จะมีลักษณะเป็นช่อขนาดเล็กๆ แบบช่อกระจุกสั้นตามซอกใบ แต่ละช่อมีประมาณ 3 ดอก กลีบเลี้ยง 4 – 5 กลีบ เรียงเป็นรูปถ้วย (hypanthium) แต่ไม่เชื่อมกัน มีกลีบดอก 4 – 5 กลีบรูปเหยือกน้ำ (urceolate) เชื่อมติดกันสั้นๆ ยาว 1 – 1.5 ซม. ส่วนดอกเพศเมีย เป็นดอกเดี่ยว ออกตามง่ามใบ ลักษณะคล้ายดอกเพศผู้ แต่มีขนาดใหญ่กว่า รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ (superior ovary) มีขน ก้านเกสรตัวเมียมี 2 อัน
ผลเดี่ยว (simple fruit) แบบเบอร์รี่ (berry) ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 4 – 5 ซม. มีทั้งผลกลมหรือผลแป้น ผิวผลเรียบ มีกลีบเลี้ยงติดที่ผล ผลอ่อนมีสีเขียวเมื่อสุกมีสีเหลือง เนื้อนุ่ม มีกลิ่นหอม ถ้าเป็นชนิดผลแป้นเมล็ดจะลีบ มีรอยบุ๋มตรงกลางผล ไม่มีเมล็ด เรียก “จันอิน” หรือ “ลูกจัน” ถ้าผลกลมจะมีเมล็ด เรียก “จันโอ” หรือ “ลูกอิน” เมล็ดมีเอนโดสเปอร์มเรียบ (albuminous seed) ลักษณะกลมรี สีน้ำตาลเป็นเมล็ดแบบสมบูรณ์เพศ สามารถนำไปขยายพันธุ์ได้
ต้นจัน (Diospyros decandra Lour.) เป็นไม้พื้นเมืองของไทย มีการเจริญเติบโตได้ช้า ใช้เวลาเป็นสิบปีจึงจะออกผล เป็นต้นไม้ที่มีผลสองแบบ ที่เรารู้จักหรือเรียกกันว่า “ลูกอิน – ลูกจัน” ผลทั้งสองชนิดนี้แท้จริงมันอยู่บนต้นเดียวกัน ความแตกต่างที่เกิดขึ้น เป็นผลมาจากสรีรวิทยาของพืชเอง
โดยทั่วไป เรามักพบเห็นผลที่เกิดจากต้นจันเป็นผลที่มีลักษณะแบน เมื่อสุกมีกลิ่นหอม รสหวานและฝาดเล็กน้อย ที่เราเรียกกันว่า “ลูกจัน” แท้ที่จริงแล้วต้นจันต้นเดียวกันสามารถมีผลได้ 2 แบบ มีรูปร่างแตกต่างกันชัดเจน คือ "ลูกกลมหนา-ลูกกลมแป้น" ที่เรียกกันว่า "ลูกอิน-ลูกจัน" ความมหัศจรรย์จากธรรมชาตินี้เกิดจากการที่ ต้นจันมีดอกแยกเพศในต้นเดียวกัน (monoecious) คือ ดอกตัวผู้และดอกตัวเมีย โดยผลที่เกิดจากดอกตัวเมียที่ได้รับการผสมเกสรจากดอกตัวผู้ (Fertilisation) จะมีลักษณะกลมหนาเรียกว่า “ลูกอิน” เมื่อผ่าออกจะพบเมล็ดประมาณ 2-3 เมล็ด ส่วนผลที่ไม่ได้รับการผสมเกสรจะมีลักษณะกลมแป้นไม่มีเมล็ด เรียกว่า ลูกจัน