ประภาส ชลศรานนท์

ประภาส ชลศรานนท์ 
ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง ประเภทดนตรีสากลและนาฏศิลป์สากล ประจำปี พ.ศ. 2561

ประภาส ชลศรานนท์

เกิด : 18 พฤษภาคม 2503

ศิลปินแห่งชาติ : สาขาศิลปะการแสดงประเภทดนตรีสากลและนาฏศิลป์สากล ประจำปี พ.ศ. 2561

ประภาส ชลศรานนท์ เป็นชาวจังหวัดชลบุรี จบการศึกษาระดับมัธยมปลายจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และระดับปริญญาตรีจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ประเภททั่วไป มหาวิทยาลัยศรีปทุม  

ประภาสเป็นผู้ก่อตั้งและแต่งเพลงให้กับวงดนตรีเฉลียง ซึ่งเป็นกลุ่มดนตรีที่ได้รับการยอมรับกันว่าเป็นการบุกเบิกแนวเพลงใหม่ๆ ทั้งเนื้อหาและท่วงทำนองให้กับวงการเพลงไทย  

ผลงานเพลงที่เขาแต่งไว้ได้รับการกล่าวขานจนถึงทุกวันนี้มากมาย ด้วยมีรูปแบบและเนื้อหาที่เป็นเอกลักษณ์ เช่น ไม้ขีดไฟกับดอกทานตะวัน พ่อ พี่ชายที่แสนดี คู่ทรหด เที่ยวละไม ต้นชบากับคนตาบอด นิทานหิ่งห้อย สาวลาวบ่าวไทย อื่นๆอีกมากมาย เจ้าภาพจงเจริญ ฯลฯ มีนามปากกาอื่น เช่น สารภี โก๋ ลำลูกกา 

ด้านงานเขียน ประภาสมีผลงานเรื่องสั้นนับสิบเรื่อง หนังสือวรรณกรรมเยาวชน นอกจากนั้นยังเป็นผู้ก่อตั้ง นิตยสารไปยาลใหญ่ นิตยสารทางเลือกที่เป็นที่นิยมของวัยรุ่นยุคหนึ่ง และมีผลงานรวมเล่มจากการเขียนบทความ ในคอลัมน์ คุยกับประภาส ใน หนังสือพิมพ์มติชน ซึ่งนับได้ว่าเป็นหนังสือชุดที่ได้รับการกล่าวขวัญถึงว่าเป็นหนังสือที่มีมุมมองเกี่ยวกับชีวิตและโลกอย่างมีความคิดสร้างสรรค์อย่างมาก  

หนังสือรวมเล่มชุดนิทานล้านบรรทัด เป็นผลงานการเขียนที่ได้รับการพูดถึงมากอีกชุดหนึ่ง หลายเรื่องในหนังสือชุดนี้ได้รับการนำไปผลิตเป็นภาพยนตร์สั้น และหลายเรื่องยังถูกเผยแพร่ในสื่อทางอินเทอร์เน็ต  

ประภาส ร่วมกับ ปัญญา นิรันดร์กุล ก่อตั้ง บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด และบริหารร่วมกัน กระทั่งบริษัทเติบโต เป็น บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) ในปี พ.ศ. 2547 นอกจากบริหารบริษัทแล้ว ยังสร้างสรรค์ผลงานการผลิตรายการโทรทัศน์ ก่อตั้ง กลุ่มกระดาษพ่อ ดินสอแม่ เพื่อเขียนบท ละคร แต่งเพลง และอำนวยการผลิต ละครเทิดพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่๙ ชุด “พ่อ” และที่สำคัญ เนื่องในโอกาสมหามงคล ฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี ในปี พ.ศ. 2549 ประภาส ร่วมกับ บมจ.เวิร์คพอยท์ และ เครือซิเมนต์ไทย จัดทำ สารคดีในรูปแบบใหม่คือ สารคดีดนตรีเล่าเรื่อง ชื่อ "น้ำคือชีวิต" เป็นการถ่ายทอด พระราชกรณียกิจ ของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในเรื่องของ "น้ำ" ให้พสกนิกรชาวไทยทั่วประเทศ ได้เห็น และตระหนักถึง สิ่งที่ทรงทำ เกี่ยวกับ เรื่องของ "น้ำ" มาโดยตลอด น้ำคือชีวิตเป็นสารคดีทีเล่าด้วยเพลงที่ขับร้องและบรรเลงโดย ศิลปินสามวง คือ คาราบาว เฉลียง และโมเดิร์นด็อก รวมทั้งละครเทิดพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ “เหมือนแม่ครึ่งหนึ่งก็พึงใจ” , “ผู้หญิงที่อยากกอดตลอดชีวิต” , “ชัยชนะของแม่” ฯลฯ และเป็นผู้คิดค้นรายการที่เป็นต้นฉบับของคนไทย เช่น คุณพระช่วย , อัจฉริยะข้ามคืน , แฟนพันธุ์แท้ , เกมทศกัณฐ์ , สู้เพื่อแม่ , ชิงช้าสวรรค์ ฯลฯ  

นอกจากสร้างสรรค์ผลงานการผลิตรายการโทรทัศน์แล้ว ยังแต่งเพลงประจำรายการคุณพระช่วย แต่งเพลงนำเสนอ ศิลปะ วัฒนธรรม ของไทย อาทิ เพลงควายไทย เพลงข้าวเหนียว เพลงรากไทยฯลฯ โดยเฉพาะเพลงประจำรายการ "คุณพระช่วยเชิดชูเมืองไทย" และยังเป็นผู้ก่อตั้ง นักแต่งเพลง และโปรดิวเซอร์วงคุณพระช่วยออร์เคสตรา รวมทั้งก่อตั้งบริษัทในเครือขึ้นมาคือ บริษัท กราว จำกัด,บริษัทบ้านอิทธิฤทธิ์ จำกัด ,ค่ายเพลงยุ้งข้าวเรคคอร์ด และก่อตั้งสถานีโทรทัศน์เวิร์คพอยท์ (ช่องเวิร์คพอยท์) หมายเลข 23  

ประภาส ได้สร้างสรรค์บทเพลงอันทรงคุณค่าอีกมากมาย เช่น เพลงประกอบละครเทิดพระเกียรติ และเพลงสำหรับกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติมากมาย เช่น เพลงพ่อ, เพลงผู้หญิงที่อยากกอดตลอดชีวิต, เพลงสารคดีดนตรีเล่าเรื่องน้ำคือชีวิต,เพลงสายใยแห่งรัก,เพลงชัยชนะของแม่,เพลงปั่นจักรยาน ฯลฯ รวมไปถึงแต่งเพลงเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ อาทิ เพลงครองแผ่นดินโดยธรรม, เพลงแม่ของแผ่นดิน, เพลงสายน้ำแห่งความหวงแหนแผ่นดิน คือสายใยแห่งรัก ฯลฯ รวมทั้ง แต่งเพลงเฉพาะกิจให้สถาบันต่างๆในประเทศ ไม่ว่าจะเป็น สำนักอัยการสูงสุด กองทัพไทย โรงพยาบาลต่างๆ มหาวิทยาลัยต่างๆ เช่น อิฐก้อนหนึ่ง,ทนายแผ่นดิน,ทหารของแผ่นดิน, มีบางสิ่งบางอย่างนำเรากลับมา, ปณิธานแห่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์, รวมไปถึงได้แต่งเพลงให้กำลังใจและเตือนใจคนไทยเมื่อเกิดวิกฤติการณ์ขึ้นในประเทศ อาทิ เพลงบ้านเราจะเหมือนเดิม เพลงวันพรุ่งนี้ เพลงคนไทยฟื้นแผ่นดิน  

ในเดือนกรกฎาคม 2551 ได้มีคอนเสิร์ตของเพลงที่ประภาสแต่ง ชื่อว่า คอนเสิร์ตเพลงแบบประภาส มีนักร้อง นักดนตรีระดับคุณภาพของเมืองไทยมาร่วมงานมากมาย อาทิ บี พีรพัฒน์ ป้าง นครินทร์ เบน ชลาทิศ เพลิน พรหมแดน เฉลียง เจนนิเฟอร์ คิ้ม เป็นต้น นอกจากใช้วงออเครสตร้าขนาดใหญ่บรรเลงเพลงทั้งคอนเสิร์ตแล้ว ยังนับเป็นคอนเสิร์ตที่ผู้คนในแวดวงดนตรีกล่าวกันว่ามีการนำเสนอเพลงแต่ละเพลงอย่างงดงามและสร้างสรรค์ที่สุดคอนเสิร์ตหนึ่ง และได้มีการจัดคอนเสิร์ตแสดงผลงานเพลงที่ประภาสแต่งขึ้นอีกครั้ง ในชื่อ 'คอนเสิร์ตเพลงประภาส 2' ที่โรงละครเคแบงก์สยามพิฆเนศ ในวันที่ 9 - 11 ตุลาคม 2558 และล่าสุดก็มี "คอนเสิร์ตเพลงประภาส 3" จัดขึ้นเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2562 ณ รอยัล พารากอน ฮอลล์

รางวัลเกียรติยศ 
รางวัลผู้อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมดีเด่นจากกระทรวงวัฒนธรรม ในงานประกาศผลรางวัล “คมชัดลึก อวอร์ด ครั้งที่3” พ.ศ. 2549 
รางวัลสื่อมวลชนดีเด่น รายการสารคดีดนตรีเล่าเรื่อง “น้ำคือชีวิต” พ.ศ. 2550 
รางวัลบุคคลเบื้องหลังแห่งปี Nine Entertain Awards 2009 พ.ศ. 2552 
รางวัลพิเศษ SEED HALL OF FAME รางวัลสำหรับศิลปินคุณภาพระดับตำนานที่สร้างผลงานต่อเนื่อง และสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ฟังได้มีความหวัง สร้างฝันให้กับผู้คน ประสบความสำเร็จสูงสุดและยาวนาน จัดโดย คลื่นซี้ด 97.5 เอฟเอ็ม พ.ศ. 2554 
รางวัลผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น จากสำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม พ.ศ. 2558 รางวัลเกียรติยศคนทีวี ในงานประกาศรางวัลโทรทัศน์ทองคำ พ.ศ. 2559 รางวัล Lifetime Achievement 
รางวัลเกียรติยศมอบให้กับผู้คร่ำหวอดในวงการดนตรีทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง และสร้างคุณูปการให้กับวงการเพลงของไทย ในงานประกาศรางวัล The Guitar Mag Awards 2016 พ.ศ. 2559 
ศิลปินแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2561 สาขาศิลปะการแสดง ประเภทดนตรีสากลและนาฏศิลป์สากล (ผู้สร้างสรรค์งานบันเทิงและดนตรีไทยสากล)