ชื่อพฤกษศาสตร์: Schumannianthus dichotomus (Roxb.)Gagnep.
ชื่อวงศ์: MARANTACEAE

คล้าเป็นไม้ล้มลุกหลายปี มีเหง้า สูงได้ถึง ๒.๕ ม. ลำต้นเหนือดินขึ้นเป็นกอ ทรงกระบอก สีเขียว เกลี้ยงเป็นมัน ตอนปลายแตกกิ่งตามข้อจำนวนมาก กาบหุ้มข้อรูปใบหอกแคบ มักแห้งและเปลี่ยนเป็นสีฟางอย่างรวดเร็ว

 ใบเดี่ยว เรียงสลับระนาบเดียวตามปลายกิ่ง รูปรี กว้าง ๒.๘-๖.๗ ซม. ยาว ๕.๘-๑๔ ซม. ปลายแหลมโคนสอบ ขอบเรียบ แผ่นใบด้านบนสีเขียวเข้มเป็นมันด้านล่างสีเขียวอ่อน เกลี้ยง เส้นแขนงใบจำนวนมาก เรียงขนานกัน ก้านใบยาวได้ถึง ๑๒.๕ ซม. มักแผ่ออกเป็นกาบเฉพาะตรงส่วนโคนหรือตลอดแนวก้าน

 ช่อดอกแบบช่อเชิงลดแยกแขนง รูปแถบ ออกที่ ปลายกิ่ง ๑-๒ ช่อ ตั้งขึ้นหรือโค้งห้อยลง ยาวได้ถึง ๓๘ ซม. ใบประดับรูปใบหอกแคบ ยาว ๓-๔ ซม. ม้วนเป็นหลอดหุ้มแกนช่อดอก ร่วงง่าย แกนคู่ดอกสีขาว ยาว ๑.๗-๒.๖ ซม. มีต่อมนํ้าหวานรูปไข่ ๒ ต่อม สีนํ้าตาล ขนาดเล็ก แต่ละแกนคู่ดอกมีดอก ๒ ดอก สีขาว เส้นผ่านศูนย์กลาง ๒.๕-๔ ซม. กลีบเลี้ยง ๓ กลีบ ยาว ๐.๕-๑ ซม. กลีบดอก ๓ กลีบ รูปขอบขนานปลายมนหรือแหลม ยาว ๒.๖-๓ ซม. โคนกลีบเชื่อมติดกับหลอดเกสรเพศผู้ หลอดเกสรเพศผู้ยาวประมาณ ๒.๖ ซม. เกสรเพศผู้ ๖ เกสร ลดรูปหายไป ๑ เกสร เหลือเพียง ๕ เกสร ที่สมบูรณ์ ๑ เกสร ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ ๒.๔ มม. อับเรณูยาวประมาณ ๒ มม. เกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน ๔ เกสร มี ๒ เกสรที่คล้ายกลีบดอก รูปไข่กลับ กว้างและยาว ๑.๕-๒ ซม. อีก ๑ เกสร ครอบอยู่บนยอดเกสรเพศเมียรูปคล้ายหมวก สีขาว ปลายสีเหลืองอ่อน กว้างประมาณ ๒.๕ มม. ยาวประมาณ ๖.๓ มม. ที่เหลืออีก ๑ เกสร มีขนาดเล็กแต่อวบหนา ยาวประมาณ ๑.๒ มม. รังไข่ อยู่ใต้วงกลีบ มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียแผ่เป็นแผ่นแบน ปลายโค้งงอ

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปคล้ายพีระมิด เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๒ ซม. เมล็ดมี ๒-๓ เมล็ด รูปทรงกลม ผิวเรียบ มีเยื่อหุ้มเมล็ดทรงกรวยสีขาวเห็นเด่นชัด มีรยางค์ยาว

 คล้ามีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาคพบขึ้นตามที่ตํ่าริมห้วยหรือในหนองนํ้าที่มีแดดจัดตลอดวัน ในต่างประเทศพบที่พม่า ภูมิภาคอินโดจีนจนถึงเกาะบอร์เนียว

 ประโยชน์ เปลือกของลำต้นเหนือดินมืความเหนียวและทนทาน นิยมใช้ในงานจักสานหยาบ ๆ เช่น เสื่อ ต้นนิยมปลูกเป็นไม้นํ้าประดับ