ขันดอก 2564 No.1

ศรีวรรณ เจนหัตถการกิจ 

ขันดอก 2564 No.1

ศรีวรรณ เจนหัตถการกิจ (คลิกดูประวัติ >)

เทคนิค : เซรามิก


ขนาด : เส้นผ่าศูนย์กลาง 22 cm.

ปี : 2564

มุลค่า : 30,000.00 บาท

อ่านว่า ขันดอก 
  “ขัน” คือ พาน “ดอก” ได้แก่ ดอกไม้ , ขันดอก จึงหมายถึง พานดอกไม้สำหรับบูชา ซึ่งอาจมีเครื่องสักการะอื่น เช่น ธูป เทียน ข้าวตอก รวมอยู่ด้วย 
 โดยทั่วไป ชาวล้านนาใช้ขันดอกเป็นเครื่องสักการบูชาหลักทั้งพุทธบูชาและเทวบูชาเป็นปกติ  แต่ที่เชียงใหม่มีประเพณีบูชาเสาอินทขีลที่เรียกประเพณี “เข้าอินทขีล” มีประชาชนจำนวนมากนำเอาดอกไม้ไปบูชากันมาก โดยนำดอกไม้ไปวางรวมกันในขันดอกจึงเรียกว่าประเพณี “ใส่ขันดอก” ด้วย 
  ประเพณี “เข้าอินทขีล” นับเป็นประเพณีที่โดดเด่นเป็นประจำทุกๆ ปี หากจะกล่าวโดยสังเขปแล้ว เสาอินทขีลเป็นเสาปูนปั้นตั้งอยู่กลางวิหารอินทขีลภายในวัดเจดีย์หลวงวรวิหาร แต่เดิมมีเฉพาะเสาล้วนๆ ต่อมามีการประดับกระจกตกแต่งให้สวยงาม แล้วนำพระพุทธรูปปางรำพึงขึ้นประดิษฐานบนเสาอย่างที่เห็นในปัจจุบัน 
 ประวัติความเป็นมาของเสาอินทขีลมีการเขียนตำนานเล่าขานว่า เดิมเป็นเสาอินทขีลที่อยู่บนสวรรค์  พระอินทร์สั่งให้กุมภัณฑ์สองตนนำมาตั้งไว้ในเมืองเชียงใหม่  เพื่อบันดาลโชคลาภและป้องกันภัย  ต่อมาผู้คนทั้งหลายกระทำการอันเป็นการไม่ให้ความเคารพต่างๆ นานา  กุมภัณฑ์ไม่พอใจจึงหามกลับเมืองสวรรค์  เมื่อชาวเมืองเดือดร้อนก็ไปขอพระอินทร์อีก  คราวนี้พระอินทร์ให้ชาวเมืองก่อเสาเอง  โดยให้หล่ออ่างขาง (กระทะ) ขนาดใหญ่  แล้วให้หล่อรูปคน  รูปสัตว์นานา  อาทิ  ช้าง  ม้า  วัว  ควาย  เป็ด  ไก่  หมู  หมา  แพะ  แกะ  กวาง  ลิง  รวมทั้งปลา ปู หอย กุ้ง จระเข้  ตะขาบ  แมลงป่องลงใส่ในอ่างขาง  จากนั้นให้ขุดดินฝังอ่างขางนั้นลึกลงในดิน  แล้วก่อเสาอินทขีลบนดินนั้นไว้เป็นที่สักการบูชาแก่ชาวเมือง ซึ่งมีความหมายเชิงสัญลักษณ์ว่า  บุคคลไม่ว่าจะเป็นคนชาติใด ภพใด  สัตว์ทั้งหลายไม่ว่าจะเป็น สัตว์บก  สัตว์น้ำหรือแมลงที่อาศัยอยู่ในอ่างขาง ซึ่งหมายถึงแผ่นดินที่มีทิวเขาล้อมรอบแห่งนี้  คนและสัตว์เหล่านั้นย่อมผนึกรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน 
 เสาอินทขีลที่สร้างขึ้นนั้นจึงเป็น “เสาปฏิญญา”  ค่าแห่ง “ความมั่นคง”  ทุกชีวิตไม่ว่าจะมา          จากไหน เมื่อมาอยู่เมืองเชียงใหม่จะต้องสามัคคีเป็นหนึ่งเดียวในเมืองนี้ ซึ่งทุกปี ทุกคน ทุกหมู่เหล่าจะมาทำพิธีแสดงถึงสามัคคีธรรม ณ ข่วงอินทขีล ที่มี “เสาอินทขีล”  
 กล่าวถึงพิธีบูชา แต่เดิมประชาชนจะนำน้ำขมิ้นส้มป่อยไปสรงน้ำเสาอินทขีล แล้วสักการบูชาด้วยธูปเทียนดอกไม้ มีการทรงเจ้าเพื่อทำนายดินฟ้าอากาศ มีการขับซอและฟ้อนหอกดาบถวาย  ประชาชนส่วนใหญ่เป็นคนในเมือง และวัตถุประสงค์ยังคงอยู่ที่การขอโชคลาภและปกป้องภัย 
 ต่อมามีผู้คนที่มาบูชาขยายวงกว้างขึ้น การบูชาถูกขยายให้เป็นไปเพื่อให้เกิดความอุดมสมบูรณ์เพิ่มขึ้นมาอีกเนื่องจากเป็นช่วงที่จะเข้าสู่ฤดูกาลการทำนา การบูชาจึงหมายรวมไปถึงเทวดาอารักษ์เมืองหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เกี่ยวข้อง อาทิ กุมภัณฑ์ ฤๅษี เสือ ราชสีห์ ช้างเผือก พระเจ้าฝนแสนห่า ตลอดจนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่ในบริเวณวัดได้แก่ พระสังกัจจายน์ พระอัฏฐาฬส พระนอน และพระเจดีย์ 
 เมื่อมีคนมาบูชามากขึ้น ทางการและทางวัดจึงจัดขันดอกที่เป็นพานไปวางเรียงรายรองรับดอกไม้ ซึ่งกล่าวกันว่าแรกๆก็กำหนดให้มีจำนวน ๒๘ ขัน อันหมายถึงพระพุทธเจ้า ๒๘ พระองค์ 
ภายหลังเปลี่ยนเป็น ๓๒ ขัน หมายถึงจำนวนขวัญทั้ง ๓๒ ขวัญที่สถิตในร่างกายของมนุษย์  และเมื่อจำนวนประชาชนชนเพิ่มขึ้น ขันที่มีลักษณะเป็นพานมีขนาดเล็กไปถนัด ไม่สมดุลจำนวนดอกไม้ จึงเปลี่ยนเป็นภาชนะที่มีขนาดใหญ่ขึ้นโดยใช้ “โตก” หรือ “ขันโตก” แทน  ต่อมามีการจัดที่วางดอกไม้ไปตามสถานที่อันเป็นที่ตั้งของสิ่งที่คนเคารพ เช่น กุมภัณฑ์ ฤๅษี เสือ ราสีห์ ช้างเผือก เป็นต้น  ในที่สุดวัดเจดีย์หลวงจึงเต็มไปด้วยดอกไม้  ภาพฝูงชนร่วมกันใส่ดอกไม้บนพานเสมือนใส่บาตรดอกไม้จึงเป็นที่มาของประเพณีดังกล่าว 
 ทุกปี เมื่อถึงวันที่กำหนดคือเดือน ๘ เหนือ แรม ๑๓ ค่ำ ถือเป็นวัน “เข้าอินทขีล” ไปจนถึง เดือนเก้าเหนือ ขึ้น ๔ ค่ำ จะเป็นวัน “ออกอินทขีล”  เรียกสั้นๆ ว่า “เดือน ๘ เข้า เดือน ๙ ออก” ช่วงนี้เวลากลางวัน ชาวบ้านจะจัดเตรียมดอกไม้สดตามฤดูกาลผูกมัดรวมกับธูปเทียน หรือจัดใส่กรวยดอกไม้ นำไปบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่วัดเจดีย์หลวงในช่วงเย็นจนถึงค่ำคืนของแต่ละวัน  เชื่อกันว่านอกจากจะเกิดสิริมงคลกับบ้านเมืองและตนเองแล้ว ผู้ใดได้ใส่ดอกไม้บูชาร่วมกันในงานนี้จะได้เกิดร่วมกันทุกชาติไป หนุ่มสาวแรกรักจึงมักชวนกันเก็บดอกไม้ร่วมต้นไปบูชาทั่วหน้ากัน 
 ปัจจุบัน ประเพณีใส่ขันดอกหาใช่การใช้ดอกไม้บูชาอย่างเดียวไม่  หากแต่มีกิจกรรมเพิ่มเติมขึ้นอีกมากมาย  ด้วยเหตุที่ว่าเสาอินทขีลตั้งอยู่ในบริเวณวัดจึงเกิดพิธีกรรมตามคติพุทธ เช่นสรงน้ำพระธาตุเจดีย์หลวง สรงน้ำพระเจ้าฝนแสนห่า ปิดทองพระประจำวันเกิด ใส่บาตร ๑๐๘ ทำบุญบริจาคในลักษณะต่างๆ  และเมื่อมีมหาชนไปร่วมงานกันมาก จึงเกิดเป็น “งานวัด” ขนาดใหญ่ที่สุด จัดขึ้นทุกปี  สร้างรายได้ทางการค้าเชิงธุรกิจท่องเที่ยวอย่างมหาศาล

นิทรรศการ : กรี๊ด (คลิกดูนิทรรศการ >)

สถานะ : ปิดการจอง



กลับไปหน้าหลัก